vc_row]
lifestyle.campus-star.com
พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าเป็นพิธีที่สำคัญและค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่สำหรับในอดีตมีความซับซ้อนยิ่งกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธรรมเนียมใหม่ ๆ จากตะวันตกก็เริ่มเข้ามา พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงและยกเลิกหลายธรรมเนียมในพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งธรรมเนียมดั้งเดิมที่พอสืบค้นพอสรุปได้ดังนี้
1. โกนผม
lifestyle.campus-star.com
ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าสืบทอดมาจากธรรมเนียมประเพณีของอินเดีย ที่มักจะโกนหัวเมื่อญาติผู้ใหญ่หรือมูลนายเสียชีวิต แต่เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ประชาชนจึงต้องโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ แต่ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ตามประกาศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า
“มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการมาแต่ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันเสาร์ ที่ ๒๒ ตุลาคม เสด็จสวรรคต เวลา ๒ ยาม กับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกษฐ์แห่จากพระราชวังดุสิต ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม
ความเศร้าโศรกสาหัสอันบังเกิดขึ้นในพระบรมราชวงษ์ครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงแน่ในพระหฤทัยว่า จะเปนความเศร้าโศรกแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุที่สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาทนุบำรุงมาทั่วกัน
อนึ่งตามโบราณราชประเพณี ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเปนเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมากให้ยกเลิกเสียทีเดียว
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙”
2. นุ่งขาว นุ่งน้ำเงิน

lifestyle.campus-star.com
แต่เดิมแล้วการแต่งกายไว้ทุกข์ของไทยในสมัยก่อน ไม่ได้มีเพียงแค่สีดำเท่านั้น ในพระราชนิพนธ์ของ ‘ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล’ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ที่ชื่อ ‘สีไว้ทุกข์ในสมัย ร.5’ ว่าแต่เดิมแล้ว ‘สี’ ของเครื่องแต่งกายสำหรับไว้ทุกข์มี 3 สี
สีดำ : สำหรับผู้ไว้ทุกข์ที่แก่กว่าหรือมีศักดิ์ที่สูงกว่าผู้ตาย
สีขาว : สำหรับผู้ไว้ทุกข์ที่มีอายุน้อยกว่าหรือมีศักดิ์ที่ต่ำกว่าผู้ตาย
สีม่วงหรือสีน้ำเงิน : สำหรับผู้ไว้ทุกข์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผู้ตาย
สำหรับพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ราษฎรจะต้องนุ่งขาวห่มขาวทั้งหมดเพื่อไว้ทุกข์ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ยกเลิกการแต่งกายสีม่วงและสีน้ำเงินไปเพื่อตัดความยุ่งยาก แต่การไว้ทุกข์ให้พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นยังคงใช้สีขาว แต่ในปัจจุบันการแต่งกายไว้ทุกข์ของไทยจะเน้นสีดำมากกว่าขาวล้วน เพราะเป็นธรรมเนียมที่ใช้ตามหลักสากลแบบตะวันตก
3. นางร้องไห้

lifestyle.campus-star.com
นางร้องไห้เป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่พบได้ทุกวัฒนธรรมทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย มอญ กรีก โรมัน ออสเตรเลีย และไทย จะมีเฉพาะในงานพระบรมศพของราชวงศ์ชั้นสูง สำหรับพระมหากษัตริย์ นางร้องไห้มักจะเป็นท้าวนาง เจ้าจอม หรือนางข้าหลวงที่เสียงดีและหน้าตางดงาม
วิธีการร้องไห้ต้องใช้คนจำนวนมาก มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน ครั้งสุดท้ายที่มีนางร้องไห้ ตามราชประเพณีคืองานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่ก็ต้องถูกยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับนางร้องไห้ว่า “ให้รู้สึกรกหูเสียจริง ๆ และร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่เป็นการร้องไห้จริง ๆ กับทั้งยังส่งเสียรบกวนเวลาที่พระกำลังถวายพระธรรมเทศนา” ท่านจึงบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า “ถึงงานศพฉันขออย่าให้มีนางร้องไห้เลย” เมื่อสวรรคต ด้วยความไม่เหมาะสมหลายประการจึงทำให้ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
4. การถวายรูด-ถวายพระเพลิงพระบุพโพกลางแจ้ง

lifestyle.campus-star.com
ในสมัยก่อนวิทยาการการแพทย์และการเผาศพยังไม่ทันสมัยนัก ไม่มีน้ำยารักษาสภาพศพ การจัดพระบรมศพให้สมเกียรติจึงมีขั้นตอนซับซ้อน ต้องมีการสุมเครื่องหอมดับกลิ่นพระบุพโพ (น้ำเหลืองน้ำหนอง) ตลอดงาน และต้องเจาะช่องบรรจุถ้ำเก็บพระบุพโพใต้ฐานพระโกศที่ประดิษฐานพระบรมศพ และมีมหาดเล็กคอยเทพระบุพโพตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิง ก็ต้องเคี่ยวพระบุพโพในกระทะใบบัวแยกกับการถวายพระเพลิงบนพระเมรุ เป็นที่เล่าขานกันว่ากลิ่นการถวายพระเพลิงพระบุพโพนั้น เหม็นอย่างร้ายกาจ
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการถวายพระเพลิงพระบุพโพกลางแจ้งด้วยวิธีการเคี่ยว แต่เปลี่ยนเป็นนำพระบุพโพบรรจุในลองเหล็กกล้าประดิษฐานใต้พระพุทธชินราชจำลองในวัดเบญจมบพิธแทน และใช้วิธีเผาในเตาเผาแบบสมัยใหม่
การถวายรูดก็ถูกยกเลิกไปเช่นเดียว เพราะเริ่มมีการฉีดฟอร์มาลีนทำให้พระมังสาแห้งติดกับพระบรมอัฐิ ไม่จำเป็นต้องชำระ ซึ่งถวายรูดหมายถึงการสำรอกเนื้อหนังมังสา เส้นเอ็นจากกระดูกโดยการต้มเคี่ยวเพื่อชำระ เตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ การถวายรูดครั้งสุดท้ายมีในงานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า