

การวางดอกไม้จันทน์ในงานศพ นับเป็นการแสดงความอาลัยครั้งสุดท้ายต่อผู้วายชนม์ เชื่อกันว่า เป็นการส่งดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ทั้งยังเป็นสิ่งสุดท้ายซึ่งผู้มีชีวิตจะทำเพื่อบุคคลที่ตนรัก ซึ่งล่วงลับไปแล้วได้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ประวัติความเป็นมา วันนี้เราจึงนำที่มาของการใช้ดอกไม้จันทน์มานำเสนอให้ทุกท่านทราบกัน
ในอดีต การใช้ไม้จันทน์ในงานศพ จะไม่ใช้เพียงส่วนของดอกอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นการนำไม้จันทน์มาทำหีบศพ ใช้เป็นฟืนในการฌาปนกิจศพเพื่อกลบกลิ่น และยังมีการนำไม้จันทน์มาสร้างเป็นโกศสำหรับบรรจุศพของเจ้านายชั้นสูงอีกด้วย เนื่องจากไม้จันทน์เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว มีน้ำมันซึ่งมีกลิ่นหอม สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยที่เชื่อเรื่องการเผาเครื่องหอม กำยาน ถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการไหว้พระพุทธรูป ก็ใช้ธูปหอมที่ทำจากไม้จันทน์ ยิ่งไปกว่านั้น การประดิษฐ์เครื่องใช้ เช่น พัดไม้จันทน์ หีบใส่เสื้อผ้า ก็ใช้ไม้จันทน์เป็นวัสดุด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เครื่องหอมไทยที่เราคุ้นเคยกันดี ก็มีส่วนผสมของไม้จันทน์อยู่ด้วย เช่น กำยาน น้ำอบไทย น้ำปรุง โดยนำไม้จันทน์มาบดเป็นผงและนำไปผสมกับสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมชนิดอื่นๆ
โดยผู้ที่จะใช้ดอกไม้จันทน์ได้นั้น มีแค่กษัตริย์ เจ้าขุนมูลนาย หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์เท่านั้น เพราะไม้จันทน์เป็นไม้มงคล หายาก และราคาสูง ซึ่งในอดีตจะไม่มีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เช่นเดียวกับทุกวันนี้ เนื่องจากเราสามารถหาได้ตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ไม้จันทน์ก็เริ่มหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เทียมขึ้นใช้ โดยนำเนื้อไม้จันทน์มาประดิษฐ์ และจากที่เคยได้รับความนิยมกันในหมู่ชนชั้นสูง ต่อมาก็เริ่มมีใช้กันในกลุ่มสามัญชน รวมถึงมีการนำไม้ชนิดอื่นมาประยุกต์ใช้นอกเหนือจากไม้จันทน์ เช่น ไม้โมก แต่ต่อมาเมื่อไม้โมกเริ่มหายากและมีราคาสูงขึ้น จึงมีการเปลี่ยนวัสดุ เป็นวัสดุชนิดอื่นที่หาง่ายและราคาถูกกว่าเดิม
นอกจากนี้ รูปแบบของดอกไม้ยังเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ในอดีตจะใช้เพียงสีสุภาพ อย่างสีขาว สีครีม หรือสีดำ และทำเป็นรูปดอกกุหลาบหรือดอกแก้ว ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบัน สีสันและรูปแบบเริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลากหลายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ทัศนคติด้านการใช้งานเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การใช้ดอกไม้จันทน์ได้กลายเป็นการแสดงความเคารพรักและรำลึกถึงผู้วายชนม์ ไม่ใช่การแสดงความรู้สึกโศกเศร้าต่อการจากไปของบุคคลดังกล่าวเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบัน มีการนำเข้าไม้หอมประเภทต่างๆ จากแถบเอเชีย อาทิ ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา ฯลฯ เข้ามาใช้ในไทยจำนวนมาก เนื่องจากการขยายตัวทางด้านการค้าของชาวเอเชีย โดยผู้ซื้อและผู้นำเข้าพันธุ์ไม้หอมมักจะเป็นชนชั้นสูง เนื่องด้วยราคาของสินค้าที่สูงมาก และจะเห็นได้ว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียก็ใช้เครื่องหอมในพิธีศพเช่นเดียวกัน อย่างการเผาเครื่องหอมต่อหน้าศพ ด้วยความเชื่อที่ว่า ความหอมจะสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายและนำดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ได้ เช่นเดียวกับการวางดอกไม้จันทน์ของชาวไทย โดยมีความเชื่อว่าจะเป็นการแสดงความอาลัย และให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า ดอกไม้จันทน์ที่เราทราบกันดีว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความอาลัยต่อบุคคลที่เรารัก ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้วนั้น แท้จริงแล้ว มีประวัติความเป็นมาและมีความหมายลึกซึ้ง น่าสนใจเพียงใด แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากใช้ดอกไม้จันทน์แสดงความอาลัยต่อบุคคลที่เรารัก เพราะคงไม่มีใครต้องการให้เขาเหล่านั้นจากเราไปอย่างแน่นอน แต่แม้ว่าเราจะไม่ต้องการให้เกิดการจากลาขึ้น ก็คงไม่มีใครฝืนกฎธรรมชาติในเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตายได้นะคะ ดังนั้น การทำความดี ละเว้นความชั่วในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยการันตีได้ว่าชีวิตในโลกหลังความตายของเราจะเต็มไปด้วยความสงบสุข ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ที่ยังมีชีวิต ส่งดวงวิญญาณของเราไปสู่ภพภูมิที่ดี
