Archive

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อาจส่งผลกระทบให้บางท่านต้องพบเจอกับภาวะว่างงานนานหลายเดือน ทำให้ขาดรายได้อันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพและดูแลครอบครัว
แต่ถ้าหากใครที่รู้สึกหมดหวัง สมัครงานหลายที่แล้วไม่ได้สักที ลองพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูไหมคะ เผื่อปาฎิหารย์มีจริง วันนี้ร้านพวงหรีดออนไลน์ Le Wreath ได้คัด 5 สถานที่ ที่ผู้คนมักไปขอพรเรื่องงานแล้วปังๆ เฮงๆ มาฝากกัน จะมีที่ไหนบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย
1. ศาลท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์
ศาลแห่งนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมืองอย่างแยกราชดำริ มีทั้งคนไทยและต่างชาติไปสักการะกันแน่นพื้นที่แทบทุกวี่วัน
ลักษณะของพระพรหม ท่านมีทั้งหมด 4 พักตร์ และ 4 ทิศ โดยแต่ละพักตร์จะให้พรต่างกัน
พักตร์ที่ 1 : ขอพรเรื่องการงาน การเรียน อำนาจบารมี
พักตร์ที่ 2 : ขอพรเรื่องที่ดิน อสังหาริมทรัพย์
พักตร์ที่ 3 : ขอพรเรื่องสุขภาพ และครอบครัว
พักตร์ที่ 4 : ขอพรเรื่องบุตร หรือ โชคลาภเงินทอง
ถ้าหากกำลังหนักใจเรื่องการงาน ก็สามารถขอพรพักตร์ที่ 1 ได้เลย แต่เราแนะนำว่าไหน ๆ ก็มาแล้ว ขอพรท่านทุกด้านเลยเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
2. พระพิฆเนศ
พระพิฆเนศ ถือเป็นเทพเจ้าของศาสนาฮินดู ที่เชื่อว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ ปัญญา และความสำเร็จ กำเนิดมาเพื่อขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง
การบูชาโดยทั่วไป ไม่นิยมถวายของคาว แต่จะเน้นไปที่ผลไม้เป็นหลัก เช่น อ้อย กล้วย สับปะรด ขนมแขก นมหรือน้ำ เป็นต้น
ส่วนสถานที่บูชาสามารถเดินทางไปได้หลายแห่งแล้วแต่ความสะดวกของท่าน ไม่ว่าจะเป็น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก), ศาลพระพิฆเนศหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ศาลพระพิฆเนศ The Walk Kaset Nawamin, วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
3. พระแม่มหาอุมาเทวี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกเป็นอีกแห่งที่ผู้คนมักเดินทางมาขอพรกันอย่างคับคั่ง เพราะมีองค์ประธานของวัดอย่างพระแม่อุมาเทวี ที่ช่วยในเรื่องของหน้าที่การงาน ความรัก แม้กระทั่งเรื่องครอบครัว
ซึ่งถ้าใครสนใจเดินทางไปไหว้ขอพร ไม่แนะนำผู้ที่มีรอบเดือน หรือการนำเนื้อสัตว์เข้าไปในบริเวณวัด เพราะตามความเชื่อถือเป็นการลบหลู่เหล่าองค์เทพเป็นอย่างมาก แต่แนะนำว่าให้เตรียมพวกดอกไม้ที่มีสีแดงหรือสีเหลือง, ขนมที่รสชาติค่อนข้างมัน หรือผลไม้ต่างๆ ไปถวายแทนค่ะ
4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย
เสด็จเตี่ย ถือเป็นบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ที่สถาปนากองทัพขึ้นและทุ่มเทพระวรกายในการปฏิบัติราชการในราชนาวีไทยตลอดมา แถมยังเป็นหมอให้กับชาวบ้าน โดยดูแลผู้เจ็บป่วยอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะและไม่รับทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นที่รักของประชาชนในยุคนั้น
และมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าท่านเป็นฆราวาสจอมขมังเวทย์ ที่ได้ร่ำเรียนอาคมต่างๆ กับหลวงปู่ศุข จนได้รับการยอมรับเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยความมีเมตตาเป็นอย่างมากของท่านจึงส่งผลให้ผู้คนหวังพึ่งพระบารมี จนปัจจุบันได้มีการสักการะบูชาท่านขึ้น โดยผู้คนนิยมขอพรในด้านการค้าขาย ด้านการงาน ด้านการเงิน และด้านสุขภาพ
สำหรับใครที่สนใจขอพรเสด็จเตี่ยสามารถเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนครได้เลยค่ะ
5. ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง
พิกัดสุดท้ายอยู่ที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ตั้งรูปจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงกง ผู้เป็นภิกษุชาวจีนที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ต่อประชาชนเป็๋นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือ ช่วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยสร้างถนน สร้างสะพาน และยังเป็นคนที่ริเริ่มการบำเพ็ญกุศล ฌาปนกิจให้กับศพไร้ญาติ ซึ่งเป็นที่มาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในทุกวันนี้นั่นเองค่ะ
สำหรับใครที่ต้องการขอพรในเรื่องการงาน การเรียน สุขภาพ เราเชื่อว่าหลวงปู่ไต้ฮงก็ถือเป็นอีกสถานที่พึ่งทางใจให้กับเราทุกคนได้อีกแห่งหนึ่งเลยค่ะ ซึ่งสามารถเดินทางไปยังมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถนนพลับพลาไชยได้เลย
ทั้ง 5 พิกัดที่ร้านพวงหรีด Le Wreath ได้แนะนำทุกท่านในวันนี้นั้น ตั้งอยู่ภายในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพแทบทั้งสิ้น ท่านใดที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพลองหาเวลาว่างมาขอพรกันดูนะคะ เผื่อช่วยให้คลายเครียด คลายกังวลลงได้บ้าง

เมื่อมนุษย์สิ้นอายุขัย ร่างกายที่ไร้วิญญาณก็จะถูกนำไปเข้าพิธีตามความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งงานศพของศาสนาพุทธเพื่อน ๆ ก็น่าจะมีความคุ้นเคย และเข้าใจกันบ้างแล้ว วันนี้ Le Wreath ร้านพวงหรีดออนไลน์ก็จะมาพูดถึงงานศพของศาสนาคริสต์กัน เผื่อใครต้องไปงานของญาติหรือคนสนิทจะได้เข้าใจถึงแม้ใจเราจะเป็นพุทธก็ตามนะคะ
ซึ่งงานศพของชาวพุทธนั้นหลัก ๆ ก็จะทำพิธีที่วัด โดยจะมีการรดน้ำศพ, นำร่างจัดใส่โรงศพ, มีพิธีสวดอภิธรรมศพ 1-7 วันตามความต้องการของเจ้าภาพ, พิธีฌาปนกิจศพ หรือเผาศพ, เก็บอัฐิ และลอยอังคารเป็นต้น
ส่วนพิธีงานศพของศาสนาคริสต์นั้นหลัก ๆ จะจัดกันที่โบสถ์หรือบ้านของผู้ตายตามกำลังของญาติ โดยจะมีการเชิญบาทหลวงไปประกอบพิธีสวดวิญญาณ และระหว่างการตั้งศพเพื่อรอประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้น จะต้องมีรูปไม้กางเขน เทียน และแจกันดอกไม้วางไว้ด้านศีรษะของผู้เสียชีวิต ซึ่งการรดน้ำศพของศาสนาคริสต์นั้นเป็นการใช้กิ่งไม้จุ่มน้ำมนต์และพรมไปที่ศพเพียงเล็กน้อย มีการสวดอธิษฐาน 3-7 วันตามความต้องการของเจ้าภาพ ก่อนที่จะทำพิธีฝังศพ
พิธีฝังนั้นจะมีการเชิญบาทหลวงมาทำพิธีส่งวิญญาณ และให้บรรดาญาติ ๆ ได้ทำการอำลากับผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่บาทหลวงจะเสกหลุมศพ เสกน้ำมนต์ และถวายกัมมะยานที่หลุมศพ และกล่าวเชิญวิญญาณให้เดินทางออกจากโลงศพไปหาพระเจ้าในที่สุด
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือ ศาสนาพุทธผู้ทำพิธีจะเป็นพระสงฆ์ และมีขั้นตอนการเผาศพ ส่วนศาสนาคริสต์ผู้ทำพิธีจะเป็นบาทหลวง ซึ่งไม่มีการเผาศพแต่จะเป็นการฝังศพแทนนั่นเอง ทีนี้ก็ไขความสงสัย ได้ความกระจ่างกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วใช่ไหมคะ วันนี้ร้าน Le Wreath ต้องขอตัวลาไปก่อน หากใครต้องการพวงหรีด ใช้บริการร้านของเราได้นะคะ มีบริการจัดส่งพวงหรีดให้ถึงที่ บริการดีดุจญาติมิตร

เมื่อมีพบก็ต้องมีจาก เป็นเรื่องที่แสนธรรมดาในชีวิตที่เราทุกคนต้องประสบพบเจอ ในวัยเด็กการจากลาอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่นำความโศกเศร้ามากระทบจิตใจ เมื่อเติบโตขึ้นความรู้สึก ความผูกพันธ์กับใครสักคนก็อาจทำให้เราไม่อยากเสียคนเหล่านั้น และอยากให้เป็นอมตะตลอดไป แต่เมื่อมันเป็นสัจธรรมของชีวิต เราก็ต้องพร้อมยอมรับ และควรศึกษาขั้นตอนการจัดงานศพไว้ เมื่อถึงเวลาที่คนใกล้ตัวได้ลาจากโลกนี้ไป คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องราบรื่น วันนี้ Le Wreath ร้านพวงหรีดออนไลน์ ก็มีขั้นตอนการจัดงานศพมาฝาก สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ยังไม่เคยผ่านการจัดงานศพ ห้ามพลาดบทความนี้เลยนะคะ
1. ดำเนินการแจ้งตายและขอใบมรณะบัตร
เมื่อมีผู้สิ้นลมหายใจ อันดับแรกที่ผู้เป็นญาติต้องทำ คือ การแจ้งตาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล และ เสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งทั้ง 2 กรณี วิธีการจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดย
● เมื่อเสียชีวิตที่โรงพยาบาล : ทางโรงพยาบาลจะทำการออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต เพื่อให้เราได้นำไปรวมกับเอกสารอื่น ๆ ของผู้ตาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อนำไปยื่นให้กับสำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่ทำการเขต ให้ทำการออกใบมรณะบัตร ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิต
● เมื่อเสียชีวิตที่บ้าน : ผู้เป็นญาติต้องเดินทางไปแจ้งการตายที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต หลังจากนั้นนำไปยื่นเพื่อขอใบมรณะบัตรต่อที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่ทำการเขต
2. ทำการติดต่อวัด เพื่อนำศพมาบำเพ็ญกุศลตามความเชื่อทางศาสนา
เมื่อได้ใบมรณะบัตรเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การติดต่อวัดที่ต้องการนำร่างผู้เสียชีวิตไปตั้งบำเพ็ญกุศลศพ และเมื่อได้วัดที่ต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องนำขนร่างมาที่วัด โดยอาจจะติดต่อวัด หรือโรงพยาบาลให้จัดหารถให้
สิ่งสำคัญในการเคลื่อนขบวนศพนั้นควรมีญาติหรือลูกหลานของผู้เสียชีวิต ถือกระถางธูป และรูปของผู้ตายนำหน้า ส่วนด้านหลังก็ควรนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 1 รูป ถือสายสิญจน์ที่โยงออกมาหน้าโลง เพื่อชักศพและนำทางดวงวิญญาณมาที่วัด
3. พิธีรดน้ำศพ และจัดร่างที่ไร้วิญญาณใส่โลงศพ
เมื่อเคลื่อนร่างที่ไร้วิญญาณมาถึงวัดแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การรดน้ำศพ โดยควรจะตั้งเตียงรดน้ำศพไว้ทางด้านซ้ายมือของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย และจัดให้โต๊ะหมู่บูชาอยู่ด้านบนของศีรษะผู้เสียชีวิต
จัดร่างที่ไร้วิญญาณให้นอนหงาย โดยนำผ้าห่มหรือผ้าแพรคลุมไปทั่วร่างยกเว้นบริเวณใบหน้าและมือขวา เพื่อรับการรดน้ำศพจากญาติ ๆ และผู้ที่มาร่วมแสดงความอาลัย โดยเราในฐานะที่เป็นเจ้าภาพ ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำอบ น้ำหอม ขันขนาดเล็กสำหรับตักไปรดน้ำศพ และขันขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำที่รดมือศพ
โดยความเชื่อที่มีมานาน เจ้าภาพควรจุดเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงรดน้ำศพได้ และเวลาที่เหมาะสมสำหรับพิธีนี้คือช่วง 16.00 – 17.00 น. หลังจากนั้นก็สามารถจัดร่างใส่โลงศพพร้อมทำพิธีต่อไปได้เลย โดยส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของวัด
4. พิธีสวดอภิธรรมศพ
ขั้นตอนนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวดหน้าศพ เจ้าภาพสามารถตกลงกับทางวัดได้เลยว่าต้องการที่จะสวดอภิธรรมศพกี่วัน ซึ่งการสวดที่ว่านี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ โดยส่วนใหญ่เจ้าภาพมักนิยมสวดกัน 1 คืน, 3 คืน, 5 คืน, 7 คืน เป็นต้น
5. พิธีฌาปนกิจศพ
เมื่อสวดอภิธรรมศพครบจำนวนวันที่กำหนดกับทางวัดแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องฌาปนกิจศพ หรือ เผาศพนั่นเอง แต่การที่จะเคลื่อนย้ายศพออกจากศาลาวัด จะต้องทำการแห่ศพเวียนรอบเมรุที่จะเผาก่อน โดยเริ่มจากบันไดทางขึ้นเมรุไปทางขวาทั้งหมด 3 รอบ โดยขบวนแห่ควรจะเรียงลำดับตามนี้ คือ พระ -> กระถางธูป -> รูปภาพ -> ศพ -> ญาติ
เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำโลงที่บรรจุศพตั้งไว้หน้าเมรุเพื่อให้ญาติ ๆ และผู้ที่มาร่วมงานได้กล่าวอำลาแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ร่างนั้นจะกลายเป็นเพียงผงธุลี โดยเจ้าภาพอาจจะต้องเตรียม เครื่องไทยธรรม เครื่องไทยธรรมผ้าไตร ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกาบังสกุล และดอกไม้จันทน์ เมื่อทำการอำลาโดยวางดอกไม้จันทน์กันครบทุกคนแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเผา
6. เก็บอัฐิ
การเก็บอัฐินั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ เก็บในวันเผา หรือ เก็บในวันรุ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าภาพจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่วัดให้ทราบไว้เช่นกัน และต้องจัดเตรียมโกศบรรจุอัฐิ น้ำอบ ดอกไม้ และอาหารคาวหวานเพื่อถวายพระสงฆ์ที่มาบังสุกุลให้ โดยการเก็บอัฐิใส่โกศนั้นนิยมเก็บทั้งหมด 6 ชิ้น ได้แก่ กะโหลก 1 ชิ้น แขน 2 ชิ้น ขา 2 ชิ้น ซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น ส่วนอัฐิที่เหลือ นิยมกวาดรวมกันและบรรจุใส่หีบไม้และนำผ้าขาวห่อเก็บไว้ เพื่อนำไปเก็บไว้ หรือนำไปลอยแม่น้ำต่อไป
7. ลอยอังคาร
เมื่อเก็บอัฐิแล้ว เจ้าภาพส่วนใหญ่ นิยมนำเศษอัฐิไปลอยในแม่น้ำตามความเชื่อที่ว่า เมื่อนำอัฐิไปลอยน้ำ จะทำให้ผู้ล่วงลับสงบสุข มีชีวิตในอีกภพภูมิที่ร่มเย็นดั่งสายน้ำ และอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าร่างกายคนเราเกิดจากธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเมื่อสลายแล้วก็ควรให้กลับไปอยู่ไนที่เดิมที่เคยจากมา
สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่ และยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานศพมาก่อน อ่านมาจนถึงตรงนี้เชื่อว่าพอรู้หลักแล้วใช่ไหมคะว่าขั้นตอนการจัดงานศพถึงจะดูยุ่งยากสักหน่อย แต่เพื่อคนที่เรารักและเคารพนับถือต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เราจะทำให้บุคคลนั้นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตนี้แล้ว และถ้าหากใครที่ต้องการพวงหรีดแสดงความอาลัย อย่าลืมนึกถึงร้าน LeWreath ที่พร้อมบริการจัดส่งพวงหรีดฟรีถึงหน้าศาลาวัดทั่วกรุงเทพมหานครนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.suriyafuneral.com/พระพุทธศาสนากับพิธีกร
อย่างที่ทุกคนทราบกันว่างานศพนั้นจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ และเป็นการระลึกถึงผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย จึงเปรียบเสมือนพิธีกรรมที่ทำให้เราทุกคนได้พึงนึกเสมอว่าชีวิตนั้นไม่แน่ไม่นอน ต้องหมั่นทำความดี สร้างบุญกุศลเข้าไว้
และแน่นอนว่าผู้คนที่มาร่วมงานต่างต้องมีความเศร้าโศกเสียใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยคลายความเศร้าหมองของญาติมิตรได้นั้น คือดอกไม้ที่ใช้ในการประดับประดาเพื่อเพิ่มความสดใสคลายความเศร้าภายในงานได้มากขึ้น ซึ่งวันนี้ Le Wreath ก็มี 5 ดอกไม้ที่นิยมนำมาตกแต่งหน้าหีบศพมาแนะนำทุกคนกัน จะมีดอกไม้อะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย
1. ดอกไฮเดรนเยียร์
เป็นดอกไม้ที่แค่มองก็ให้ความรู้สึกสดชื่น มีความหมายเปรียบดั่งแทนคำขอบคุณทุกเรื่องที่ผ่านมาจากหัวใจ
2. ดอกกุหลาบ
แทนความรู้สึกดี ๆ ที่นิยมกันทั่วโลก โดยกุหลาบแต่ละสีมีความหมายที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป แต่โดยรวมสื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์แก่ผู้ล่วงลับ
3. ดอกคาร์เนชั่น
เปรียบเสมือนตัวแทนของความเป็นแม่ เนื่องจากคาร์เนชั่นดอกแรก ผลิบานเมื่อพระแม่มารีหลั่งน้ำตาในยามที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ดังนั้น เมื่อมีการจากไปของผู้เป็นแม่ ผู้คนจึงนิยมนำดอกคาร์เนชั่นมาใช้ในการประดับตกแต่งในงานศพนั่นเอง
4. ดอกลิลลี่
ลิลลี่สีขาว นิยมนำมาใช้ประดับในงานศพมากที่สุด เพราะเปรียบเสมือนเป็นการได้ส่งผู้ล่วงลับไปในภพภูมิที่ดี ด้วยความรัก ความปรารถนาดีที่บริสุทธิ์ของคุณ
5. ดอกกล้วยไม้
ถือเป็นดอกไม้ประดับที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง เมื่อนำมาใช้ประดับในงานศพจะเปรียบเสมือนการส่งความคิดถึง ความห่วงใยแก่ผู้ล่วงลับ และเป็นการสื่อว่าผู้ล่วงลับจะอยู่ในใจส่วนลึกตลอดไป
ถึงดอกไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้ จะมีเอกลักษณ์และความสวยงามแตกต่างกัน แต่สุดท้ายจุดมุ่งหมายในการนำดอกไม้มาประดับหน้าหีบศพ นั่นก็คือ การสื่อความปรารถนาดีแก่ผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายนั่นเองค่ะ

Credit by: https://www.baanlaesuan.com/94218/diy/easy-tips/chinesenewyear-paper
“พิธีถวายเครื่องกระดาษ” หรือเป็นที่รู้จักกันว่า “พิธีเผากระดาษเงิน กระดาษทอง” นั้นถือได้ว่าเป็นขั้นตอนลำดับสุดท้ายของการประกอบพิธีกงเต๊ก ก่อนจะนำศพไปฝังที่สุสานหรือฌาปนกิจในวันรุ่งขึ้นค่ะ ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบถึงประวัติที่มาและรูปแบบเครื่องกระดาษที่ใช้ รวมไปถึงขั้นตอนพิธีถวายเครื่องกระดาษค่ะ วันนี้เลอหรีดจะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีนี้อย่างคร่าว ๆ กันค่ะ
ประวัติที่มาของพิธีถวายเครื่องกระดาษ
ประวัติที่มาของ “พิธีถวายเครื่องกระดาษ” นั้นมีความเชื่อกันว่าเริ่มมาจากรัชสมัยของพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ (พ.ศ.1170 – 1193) ในราชวงศ์ถังค่ะ ซึ่งสาเหตุที่เริ่มนิยมถวายเครื่องกระดาษก็เป็นเพราะตอนที่พระองค์ทรงครองราชย์ใหม่ ๆ ก็ทรงห่วงใยในความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อัครเสนาบดีเว่ยเจิงจึงถวายแผนการว่าให้พระองค์ทรงประชวรแล้ววิญญาณได้ไปท่องเที่ยวในนรกและฝูงผีเปรตได้มาห้อมล้อมพระองค์ เพื่อขอความช่วยเหลือ พระองค์รับปากว่ารอให้กลับเมืองมนุษย์ก่อนแล้วจะหาวิธีส่งเงินทองไปให้พวกเขา ด้วยเหตุนี้เองก็ทรงแนะนำส่งเสริมให้ประชาชนเผากระดาษเงิน กระดาษทองสงเคราะห์พวกเปรตด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรก ช่วยเพิ่มอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน และอีกประการหนึ่งก็คือทำให้ประชาชนรู้ว่านรกและบาปบุญคุณโทษมีจริง และเตือนสติให้ประชาชนไม่ให้ทำเรื่องผิดกฎหมาย เมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นความจริงก็ไม่กล้าทำความชั่ว บ้านเมืองจึงกลับมาคืนสู่ความสงบสุขนับตั้งแต่นั้นมา
Credit by: https://www.baanlaesuan.com/94218/diy/easy-tips/chinesenewyear-paper
ประเภท / รูปแบบของเครื่องกระดาษ
“เครื่องกระดาษกงเต๊ก” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากที่สุดในการประกอบพิธีกงเต๊ก เพราะเชื่อกันว่าการถวายเครื่องกระดาษหรือเผากระดาษเงิน กระดาษทองอุทิศให้ผู้ล่วงลับเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูที่เปรียบเสมือนกับการใช้หนี้เวรหนี้กรรมให้แก่ผู้ล่วงลับค่ะ สำหรับรูปแบบเครื่องกระดาษกงเต๊กในระยะแรกนั้นจะไม่ค่อยมีรายละเอียดที่ซับซ้อนนัก เนื่องจากทำเป็นกระดาษเงิน กระดาษทอง ที่มีจุดประสงค์เฉพาะเผาอุทิศให้ผู้ล่วงลับนำไปใช้หนี้สินเพียงอย่างเดียว หรือใช้เป็นค่าผ่านทางไปยังแดนปรโลกค่ะ ต่อมาก็มีการคิดประดิษฐ์พลิกแพลงเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับให้ผู้ล่วงลับไว้ใช้สอยเช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เช่น กระโถน ชุดน้ำชา ชุดอ่างล้างหน้า วิดีโอ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งการถวายเครื่องกระดาษในการประกอบพิธีกงเต๊กนั้นส่วนมากจะนิยมเผาเฉพาะบ้าน รถ เงิน เฟอร์นิเจอร์ หีบเสื้อผ้า และคนรับใช้ค่ะ ส่วนรูปแบบของเครื่องกระดาษหรือกระดาษเงิน กระดาษทองที่ใช้ในการประกอบพิธีกงเต๊ก เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ได้แก่
- “กิมจั้ว” หรือ “งึ้งจั๊ว” เป็นกระดาษเงิน กระดาษทอง นิยมไหว้เป็นชุด โดยก่อนไหว้ ลูกหลานต้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ สามารถใช้ไหว้ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นไหว้เทพยดาฟ้าดิน หรือไหว้บรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับค่ะ
- “กิมเตี๊ยว” เป็นแท่งทองที่ใช้สำหรับไหว้บรรพบุรุษ หรือไหว้ผู้ล่วงลับ
- “ค้อซี” เป็นกระดาษทอง โดยก่อนใช้จะพับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็น “เคี้ยวเท่าซี” (เรือ) เพราะเชื่อกันว่าการพับเรือนี้จะมีมูลค่าสูงกว่าการพับแบบอื่น และสามารถใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้ผู้ล่วงลับด้วย โดยเฉพาะในพิธีกงเต๊ก ลูกหลานของผู้ล่วงลับจะต้องพับค้อซีให้มากที่สุด
- “อิมกังจัวยี่” เป็นแบงก์กงเต๊ก
- “อ่วงแซจิ่ว” ใช้สำหรับให้ผู้ล่วงลับใช้เป็นใบเบิกทางไปยังสวรรค์นั่นเอง
ขั้นตอนพิธีถวายเครื่องกระดาษ
หลังจากทำพิธีข้ามสะพานกงเต๊กเสร็จแล้ว ลูกหลานจะนำเครื่องกระดาษที่ใช้ในประกอบพิธีทั้งหมดมาเผานอกศาลาพิธี ซึ่งอาจเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง หรือในเตาเผาเครื่องกระดาษที่ทางวัดได้จัดไว้ให้ค่ะ ทั้งนี้ลูกหลานจะต้องระมัดระวังในการขนเครื่องกระดาษมายังบริเวณที่จะทำพิธีเผาด้วยความระมัดระวังไม่ให้ฉีกขาดหรือเสียหาย ด้วยเชื่อว่าหากรูปลักษณ์ของเครื่องกระดาษเสียหายก็จะเป็นสภาพเช่นเดียวกับที่ผู้ล่วงลับได้รับค่ะ สิ่งสำคัญก็คือเครื่องกระดาษทุกชิ้นจะต้องติดชื่อป้ายประกาศผู้รับที่เป็นชื่อของผู้ล่วงลับ และชื่อลูกหลานที่เป็นผู้ส่งเอาไว้ด้วยค่ะ เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของและป้องกันไม่ให้วิญญาณจรจัดมาแย่งชิงไปค่ะ โดยก่อนเผานี้ ลูกชายคนโตจะเป็นผู้กล่าวคำอุทิศตามพระท่าน แล้วลูกหลานทั้งหมดถือธูปคนละดอกเดินแถวรอบกองเครื่องกระดาษ เพื่อสำรวมใจอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับแล้ววางธูปรอบกองกระดาษในการแสดงเครื่องหมายหรือขอบเขตว่าเครื่องกระดาษเหล่านี้อุทิศให้เฉพาะผู้ล่วงลับที่พวกตนกระทำพิธีให้เท่านั้น ไม่ให้ภูตผีวิญญาณจรตนอื่น ๆ เข้ามาแตะต้องเด็ดขาดค่ะ เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นพิธีกงเต๊กอย่างสมบูรณ์ค่ะ
เมื่อเพื่อน ๆ ได้ทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติที่มา รูปแบบ และขั้นตอนพิธีถวายเครื่องกระดาษกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่าพิธีนี้มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ เลย เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญกุศลแล้ว ผู้ล่วงลับยังได้รับเครื่องกระดาษต่าง ๆ ที่ลูกหลานอย่างเรา ๆ เผาไปให้ใช้ในแดนปรโลกอีกด้วยค่ะ

Credit by: https://www.youtube.com/watch?v=XP3l-yNpr4w
หากใครได้เคยเห็นหรือเข้าร่วมพิธีกงเต๊กแล้วล่ะก็อาจจะคุ้นเคยกับ “พิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊ก” กันเป็นอย่างดีแล้วใช่มั้ยล่ะคะ? โดยเฉพาะกับคนไทยเชื้อสายจีนที่มักจะประกอบพิธีนี้ต่อจากการสวดพระอภิธรรมศพแบบไทยก่อนฌาปนกิจศพในวันรุ่งขึ้น แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงความเชื่อ ขั้นตอนการปฏิบัติ และข้อห้ามในขั้นตอนนี้ วันนี้เลอหรีดจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊กนี้กันค่ะ
“พิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊ก” ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการประกอบพิธีกงเต๊กเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางของดวงวิญญาณผู้ล่วงลับจากภพภูมิหนึ่งไปยังอีกภพภูมิหนึ่ง โดยมีบุตรหลานพาเดินข้ามสะพานโอฆสงสารไปส่งยังแดนปรโลก เมื่อส่งเสร็จจึงจะเดินทางข้ามสะพานกลับมายังโลกมนุษย์ค่ะ ซึ่งสะพานที่ใช้ข้ามในพิธีนี้เปรียบได้กับสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของคนตายค่ะ นอกจากนั้นยังสื่อความหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอีกด้วยนะคะ
ก่อนเริ่มพิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊ก ลูกชายคนโตของผู้ล่วงลับจะต้องไหว้บูชาสะพานด้วยธูป 2 ดอก, ขนม และกระดาษเงินกระดาษทองค่ะ และพอเข้าสู่พิธี พระจะสวดมนต์ที่ปะรำหน้าศพ เมื่อสวดจนได้จังหวะของบทตอนแล้ว ขบวนพระก็จะเดินนำหน้า โดยพระรูปที่สองจะเป็นผู้ถือโคมวิญญาณของผู้ล่วงลับ ส่วนลูกชายคนโตจะเป็นผู้ถือกระถางธูปเดินนำหน้าขบวนลูกหลานโดยไล่เรียงลำดับศักดิ์และความอาวุโสค่ะ แต่ถ้าหากลูกชายคนโตของผู้ล่วงลับนั้นมีลูกชายก็จะต้องให้ลูกชายของลูกชายคนโตหรือที่เรียกกันว่า “ตั่วซุง” (คนจีนถือว่า “ตั่วซุง” นี้เป็นลูกชายคนเล็กของผู้ล่วงลับด้วยค่ะ) มาต่อท้ายเป็นลูกชายคนเล็ก แล้วจึงตามด้วยลูกสะใภ้ ลูกสาว ลูกเขย แล้วต่อด้วยชั้นหลานและเหลนค่ะ
Credit by: https://lh3.googleusercontent.com/5S7sV78gPkpAeJs3gfsjyU532IIAFQzoUsoOKGf2Fk-eNcxgzoV_wk9gvRTB2hte55haaA=s162
การเดินข้ามสะพานกงเต๊กนี้จะมีอยู่ 2 ช่วงด้วยกันก็คือช่วงข้ามไปและข้ามกลับค่ะ โดยในช่วงแรกจะเป็นการพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินข้ามสะพานไปส่งยังแดนสวรรค์ และเมื่อเดินข้ามไปถึงแดนสวรรค์ พระก็จะหยุดขบวนและวางโคมวิญญาณลงกับที่ เพื่อกราบไหว้พระพุทธด้วยธูป 3 ดอก และให้ลูกชายคนโตเป็นผู้ไหว้พระพุทธแทนผู้ล่วงลับแล้วปักธูปลงในกระถางธูปของผู้ล่วงลับเอง จากนั้นขบวนพระก็จะพาขบวนลูกหลานเดินสะพานข้ามกลับมายังโลกมนุษย์ แต่จะไม่ถือโคมวิญญาณของผู้ล่วงลับกลับมาด้วย และขากลับก็จะต้องข้ามสะพานสวนทางกับขาไปด้วยจำนวนรอบเท่าเดิม ข้ามไปกี่รอบก็ต้องข้ามกลับมาจำนวนรอบเดียวกันค่ะ ที่สำคัญที่สุดก็คือในการเดินข้ามสะพานไป-กลับแต่ละครั้งจะต้องโยนเศษเหรียญสตางค์ลงในอ่างน้ำที่วางไว้อยู่ตรงหัวสะพานและปลายสะพานด้วย เปรียบเสมือนเป็นการซื้อทาง / เป็นค่าผ่านทางของทั้งผู้ล่วงลับและของตนเองด้วย หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการสอนให้ลูกหลานไปในตัวว่าเราไม่สามารถนำชื่อเสียงหรือทรัพย์สินเงินทองติดตัวไปด้วยเมื่อสิ้นชีวิตนอกจากบุญและบาปนั่นเองค่ะ สำหรับข้อควรระวังหรือข้อห้ามในขั้นตอนพิธีการเดินข้ามสะพานกงเต๊กนั้นก็คือ หากลูกหลานที่เป็นผู้หญิงคนไหนที่มีประจำเดือน หรือกำลังตั้งครรภ์ล่ะก็ห้ามข้ามสะพานเด็ดขาด แต่ให้เดินอ้อมสะพานอยู่ด้านล่างแทนค่ะ
เมื่อขบวนพระและขบวนลูกหลานเดินทางกลับมายังโลกมนุษย์แล้ว ขบวนพระก็จะหยุด และลูกชายคนโตจะต้องนำกระถางธูปไปวางไว้ที่ปะรำหน้าศพ เจ้าหน้าที่จะนำหีบเสื้อผ้าของผู้ล่วงลับมาวางไว้โดยมีโคมวิญญาณวางซ้อนบนหีบเสื้อผ้าอีกที จากนั้นลูกหลานก็จะมานั่งฟังพระสวดต่อที่หน้าปะรำพระพุทธจนจบหนังสือมนต์เล่มสุดท้าย ในระหว่างที่พระสวดมนต์จนจบเล่มจะต้องนำหนังสือมนต์นี้ให้ลูกชายเปิดดูทุกครั้งแล้วจึงยกหนังสือสวดมนต์นั้นขึ้นจบถวายค่ะ เมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะก้มลงกราบหน้าศพ 4 ครั้งแล้วช่วยกันนำหีบเสื้อผ้ากงเต๊กและโคมวิญญาณไปเผา รวมไปถึงบรรดาข้าวของกงเต๊กอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย ซึ่งการนำข้าวของกงเต๊กไปเผานั้นจะเรียกว่า “การเหี่ยม” โดยมีหลักการเหี่ยมว่าคนอื่นสามารถช่วยยกของกงเต๊กได้ แต่ลูกหลานของผู้ล่วงลับเท่านั้นจะต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหมดและทุกชิ้นไม่ให้ขาดตกสิ่งใดเลย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการเดินข้ามสะพานกงเต๊กค่ะ
เมื่อเพื่อน ๆ ได้อ่านบทความนี้แล้ว เลอหรีดเชื่อว่าเพื่อน ๆ จะต้องทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ขั้นตอนการปฏิบัติ และข้อห้ามหรือข้อควรระวังในพิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊กมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ แล้วคราวหน้าเลอหรีดจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “พิธีการถวายเครื่องกระดาษ” กันต่อค่ะ

เครดิตภาพ: http://www.tekkacheemukkhor.com/Festival_kongTek.php
เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่คะว่าลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊กนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะและซับซ้อนมากมายค่ะ โดยพิธีกงเต๊กแทบจะทุกขั้นตอนจะซ่อนความหมายแทบทุกอณูเลยทีเดียวค่ะ นอกจากนี้รายละเอียดของพิธียังมีความแตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละพื้นที่อีกด้วย วันนี้เลอหรีดจะมาอธิบายถึงลำดับและขั้นตอนการปฏิบัติในการประกอบพิธีนี้กันค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว…ก็เริ่มกันเลย
ช่วงก่อนเริ่มพิธี
ขั้นตอนแรกของลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊กนั้นก็คือ “ช่วงเตรียมของกงเต๊ก” ค่ะ ซึ่งในขั้นตอนนี้พระจีนจะเป็นผู้เขียน “ใบส่งของ” ที่มีลักษณะคล้ายกับการเขียนจ่าหน้าซองจดหมาย เพื่อให้ทราบว่าผู้ส่งของและผู้รับของคือใคร โดยในกระดาษที่บอกชื่อทั้งผู้รับและผู้ส่งจะต้องปิดบนของกงเต๊กทุกชิ้นและลูกหลานจะต้องนำเสื้อผ้าที่ผู้ล่วงลับชอบมากที่สุดและมั่นใจว่าผู้ล่วงลับจำลายผ้าได้อย่างแน่นอนมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วนำไปแปะติดกับของทุกชิ้น เพื่อให้ผู้ล่วงลับทราบว่ากองของกงเต๊กที่เผาไปเหล่านี้เป็นของท่านและป้องกันไม่ให้วิญญาณดวงอื่นมาหยิบของผิดกองเช่นกันค่ะ เมื่อเตรียมของเสร็จแล้ว พระจีนจะนั่งประจำที่ก่อนเริ่มพิธีสวดมนต์ ลูกหลานที่แต่งกายประกอบพิธีกงเต๊กจะมานั่งประจำที่พระพุทธ โดยลูกชายจะนั่งหน้าสุดแล้วตามด้วยลูกสะใภ้และลูกสาวในแถวที่สอง ส่วนแถวท้ายสุดก็จะเป็นลูกเขย หลาน และเหลนค่ะ ส่วนเบื้องหน้าของลูกชายจะมีม้ากงเต๊กตั้งวางอยู่
เครดิตภาพ: https://www.รับถ่ายภาพ.net/งานศพวัดไผ่เงิน/
ช่วงประกอบพิธี
หลังจากเตรียมของกงเต๊กเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอน “ช่วงประกอบพิธี” ของลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊กกันค่ะ ซึ่งในช่วงประกอบพิธีนี้จะมีรายละเอียดการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนมากมายและค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากมีเรื่องของความเชื่อและความหมายเข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ โดยช่วงประกอบพิธีมีลำดับขั้นตอนดังนี้คือ
1. ทำพิธีสวดเปิดมณฑลสถาน ด้วยการสวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มาเป็นองค์ประธาน ณ พุทธสภาที่แทนด้วยฉากผ้าปักสีแดง เพื่อให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์และความสิริมงคล
2. ส่งสารไปยังยมโลกด้วยม้ากงเต๊กและนกกงเต๊ก โดยแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับไปยังสวรรค์และปรโลก เพื่อบอกกล่าวและขอเปิดทางให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินทางได้อย่างสะดวกค่ะ
3. ทำพิธีชำระดวงวิญญาณ ด้วยการสวดอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมาสถิตที่โคมวิญญาณ ซึ่งได้แขวนเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตเอาไว้ แล้วอัญเชิญให้อาบน้ำชำระดวงจิตในห้องน้ำกงเต๊กที่มีอ่างขาวใส่น้ำสะอาดและผ้าขนหนูสีขาว เพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมีความพร้อมสำหรับฟังธรรม และรับของที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ ณ ปะรำพิธี ซึ่งเป็นฉากผ้าปักสีน้ำเงินค่ะ สำหรับความหมายของพิธีการชำระดวงวิญญาณนั้นสื่อถึงการชำระอกุศลกรรมของผู้ล่วงลับที่อาจเผลอกระทำไว้ทั้งแบบตั้งใจและแบบไม่ตั้งใจในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ
4. เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต ต้องจุดธูปแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับให้บรรพบุรุษรับทราบก่อน จากนั้นจึงจัดเตรียมอาหารและของไหว้ต่าง ๆ ไว้รอรับบรรพบุรุษที่มาเป็นพี่เลี้ยงในการเดินทางค่ะ ซึ่งขั้นตอนของพิธีไหว้บรรพบุรุษนี้ถือเป็นการสอนให้ลูกหลานเคารพและกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษค่ะ
5. ทำพิธีบูชาพระเจดีย์ พระสงฆ์จะสวดมนต์นำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินเวียนประทักษิณรอบพระเจดีย์ แต่หากผู้ล่วงลับเป็นผู้หญิงให้ใช้สระอโนดาตหรือสระบัวแทน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาพระเจดีย์และพระพุทธองค์ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาถือว่าพระเจดีย์เป็นสังเวชนียสถานหรือตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่เราควรกราบไหว้บูชานั่นเองค่ะ สำหรับความหมายของการทำพิธีบูชาพระเจดีย์นั้นก็คือเป็นเครื่องเตือนใจให้พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงคุณงามความดีของพระศาสดาที่มีต่อเหล่าสรรพสัตว์และรำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อช่วยให้เจริญสติได้ง่ายขึ้นและเจริญรอยตามพระพุทธองค์ค่ะ
6. ทำพิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊ก การเดินข้ามสะพานกงเต๊กนี้เป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางของดวงวิญญาณผู้ล่วงลับจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งค่ะ ซึ่งพระสงฆ์จีนจะพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมายังเขตแดนสวรรค์โดยมีลูกหลานมาส่ง และเมื่อส่งเสร็จก็จะเดินข้ามสะพานกลับค่ะ ทั้งนี้ในระหว่างที่ข้ามสะพานทุกครั้ง ลูกหลานจะต้องโยนเหรียญสตางค์ลงในอ่างน้ำค่ะ สำหรับสิ่งที่ควรระวังในพิธีนี้ก็คือ หากลูกหลานผู้หญิงคนไหนที่มีประจำเดือนล่ะก็…ห้ามเดินข้ามสะพานโดยเด็ดขาด แต่ให้เดินอยู่ด้านข้างสะพานแทน
7. หลังจากข้ามสะพานกงเต๊กเสร็จก็จะเป็นพิธีสวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษค่ะ ซึ่งการถวายเครื่องกระดาษนี้จะเป็นการเผากระดาษเงิน กระดาษทองให้แก่ผู้ล่วงลับ รวมไปถึงของกงเต๊กต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบ้านพร้อมที่ดิน เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เงินทอง คนรับใช้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับค่ะ โดยอาจจะเผาหลังจากทำพิธีกงเต๊กเสร็จ หรือจะเผาในวันรุ่งขึ้นไปพร้อมกับพิธีฌาปนกิจหรือการเดินทางไปฝังศพที่ฮวงซุ้ยก็ได้เช่นกันค่ะ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกงเต๊ก
เห็นไหมล่ะคะว่าลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊กแต่ละขั้นตอนล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนและซ่อนความหมายของแต่ละพิธีอยู่แทบทุกอณูเลยทีเดียวค่ะ เมื่อเพื่อน ๆ ทราบถึงลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติที่ถูกต้องของพิธีดังกล่าวกันไปแล้ว ครั้งหน้าเลอหรีดจะมาให้ความรู้ในหัวข้อถัดไปกันต่อนะคะ

เครดิตภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=XP3l-yNpr4w
“พิธีกงเต๊ก” เป็นพิธีงานศพของชาวจีนที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งพิธีนี้ถือได้ว่าเป็นพิธีที่สืบทอดและปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงเรื่องราว ความเป็นมา และขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้คุณผู้อ่านทราบเกี่ยวกับ “พิธีกงเต๊ก” นี้กันมากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับพิธีนี้กันเถอะ
ความหมายและความเป็นมาของพิธีกงเต๊ก
ความหมายของคำว่า “กงเต๊ก” เกิดจากคำสองคำรวมกัน นั่นคือ คำว่า “กง” ที่แปลว่า “การกระทำ” ส่วนคำว่า “เต๊ก” นั้นแปลว่า “คุณธรรม” เมื่อนำมารวมคำกันแล้วสามารถแปลความได้ว่า “การกระทำที่มีคุณธรรม” ซึ่งหมายถึง การแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อผู้ล่วงลับด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศล เพื่อสวดส่งวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์นั่นเองค่ะ
สำหรับความเป็นมาของ “พิธีกงเต๊ก” นี้เกิดจากรากฐานของความเชื่อทั้ง 3 ความเชื่อด้วยกัน อันประกอบไปด้วย2 ศาสนา และ 1 ลัทธิ ได้แก่…
1. ศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) จะเน้นไปที่พระธรรมคำสอนและบทสวดต่าง ๆ แต่จะไม่มีพิธีกรรม
2. ศาสนาเต๋า เน้นไปที่ความสมดุลและพิธีกรรมที่สื่อความหมาย
3. ลัทธิขงจื๊อ เน้นไปที่ของไหว้และการแสดงออกถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อผู้ล่วงลับ
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีพิธีกงเต๊กให้เราได้เห็นกันบ่อยนัก เนื่องจากผู้ที่จะรับพิธีกงเต๊กได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเสียชีวิตตามธรรมชาติหรือโรคภัยไข้เจ็บ และแต่งงานมีลูกหลานแล้วเท่านั้น แต่งดเว้นการจัดพิธีนี้สำหรับผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเสียชีวิตแบบไม่ปกติอันเกิดจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรม หรือฆ่าตัวตาย ส่วนมากการจัดพิธีกงเต๊กนั้นจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธี หรือจ้างบุคคลธรรมดาที่รับจ้างทำพิธีนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ สำหรับพระสงฆ์ที่ประกอบพิธีนี้ในประเทศไทยเป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานมีเพียงคณะสงฆ์นิกายจีน (พระจีน) กับคณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน) เท่านั้นค่ะ
เครดิตภาพ: http://www.tekkacheemukkhor.com/Festival_kongTek.php
เครื่องแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊ก
สำหรับ “เครื่องแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊ก” นั้นจะมีความแตกต่างกันไปค่ะ โดยผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ล่วงลับจะใส่ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าดิบไว้ด้านในคลุมทับด้วยชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมั่วซ่า” โดยจะมีสีหรือเครื่องหมายที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับผู้ล่วงลับ ส่วนญาติพี่น้องและหลานคนอื่น ๆ จะแต่งกายด้วยผ้าดิบ ซึ่งเลอหรีดจะอธิบายอย่างละเอียดอีกครั้งในหัวข้อลำดับต่อไปค่ะ
ลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊ก
โดยทั่วไปแล้ว พิธีกงเต๊กจะจัดขึ้นในวันที่ 6 หลังจากสวดอภิธรรมศพตามพิธีงานศพของศาสนาพุทธทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ แบบทั้งวันทั้งคืนจะเริ่มในช่วงประมาณ 09.00 – 22.00 น., แบบครึ่งวันครึ่งคืน จะเริ่มในช่วงประมาณ 13.00 – 22.00 น. และแบบครึ่งคืน จะเริ่มในช่วงประมาณ 16.00 – 22.00 น. ค่ะ ส่วนการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธีกงเต๊กนั้นจะมีความละเอียดอ่อนมาก เนื่องจากมีความหมายโดยนัยซ่อนอยู่ในทุกขั้นตอน ซึ่งเลอหรีดจะอธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อ “ลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊ก” ค่ะ
เครดิตภาพ: https://pantip.com/topic/38079316
พิธีข้ามสะพานกงเต๊ก
“พิธีข้ามสะพานกงเต๊ก” ในพิธีกงเต๊กนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางของดวงวิญญาณผู้ล่วงลับที่เดินทางจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง โดยมีลูกหลานนำดวงวิญญาณข้ามสะพานโอฆสงสารไปส่งยังแดนปรโลก เมื่อส่งเสร็จจึงจะเดินทางข้ามสะพานกลับมายังโลกมนุษย์ค่ะ แต่ทุกครั้งที่ข้ามสะพานกงเต๊กจะต้องโยนเหรียญสตางค์ลงไปอ่างน้ำ เพื่อซื้อทางให้แก่ผู้ล่วงลับและตนเองนั่นเองค่ะ
เครดิตภาพ: Facebook “โรงงานกระดาษ – กงเต๊ก”
พิธีถวายเครื่องกระดาษ
“พิธีถวายเครื่องกระดาษ” ในพิธีกงเต๊กนี้จะเป็นการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้แก่ผู้ล่วงลับ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งเครื่องกระดาษที่ว่านี้ส่วนมากจะนิยมเผาเฉพาะปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพในปรโลกเท่านั้น อย่างเช่น บ้าน เฟอร์นิเจอร์ หีบเสื้อผ้า เงินทอง คนรับใช้พร้อมตั้งชื่อให้ เป็นต้น โดยอาจจะเผาหลังจากทำพิธีกงเต๊กเสร็จ หรือเผาในวันรุ่งขึ้น พร้อม ๆ กับการฌาปนกิจหรือการเดินทางไปฝังที่ฮวงซุ้ยก็ได้เช่นกันค่ะ
เมื่อเพื่อน ๆ ได้อ่านเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีกงเต๊ก ซึ่งเป็นพิธีงานศพของชาวจีนอย่างคร่าว ๆ กันแล้ว เลอหรีดหวังว่าเพื่อน ๆ คงจะรู้จักพิธีนี้กันมากขึ้นนะคะ

Credit by: https://www.sanook.com/movie/80933/
หากใครเคยชมซีรีย์จีนหรือเคยร่วมงานศพที่มีการจัดพิธีกงเต๊กอาจจะคุ้นเคยกับเครื่องแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊กกันมาบ้างใช่ไหมล่ะคะ? แน่นอนว่าหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมลูกและหลานแต่ละคนแต่งกายแตกต่างกัน บางคนแต่งแบบหนึ่ง แต่บางคนแต่งอีกแบบหนึ่ง วันนี้เลอหรีดจะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ
เครื่องแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊กจะมีความแตกต่างกันในแต่ละแบบค่ะ โดยผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ล่วงลับ อย่างเช่น ลูกชาย ลูกสาว และลูกสะใภ้ จะสวมชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าดิบไว้ข้างในแล้วคลุมทับด้วยชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าปอหรือผ้ากระสอบ หรือเรียกอีกอย่างว่า “หมั่วซา” ค่ะ ซึ่งสาเหตุที่ต้องสวมชุดผ้าดิบก็เพราะคนจีนถือว่าผ้าดิบเป็นผ้าที่มีเนื้อบริสุทธิ์เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ที่บุพการีมีต่อลูกหลาน ส่วนชุดกระสอบนั้น คนจีนเชื่อว่าใส่ไว้เพื่อป้องกันวิญญาณระหว่างทำพิธีเดินข้ามสะพานไปส่งดวงวิญญาณนั่นเองค่ะ แต่ถ้าหากเป็นลูกเขยและหลานจะสวมชุดเสื้อผ้าสีขาว และหมวกที่มีสีหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับผู้ล่วงลับค่ะ สำหรับการแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊กนั้นมีรายละเอียดย่อย ๆ ดังนี้คือ…
Credit by: http://www.sirinanmongkol.com/2019/10/01/ชุดผ้าดิบธรรมเนียมการแ/
1. ลูกชาย
หมายถึงลูกชายทั้งหมดของผู้ล่วงลับ ทั้งนี้จะรวมไปถึง “ตั่วซุง” หรือหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต ซึ่งคนจีนถือว่า “ตั่วซุง” นี้เป็นลูกชายคนสุดท้องของผู้ล่วงลับด้วยเช่นกันค่ะ สำหรับเครื่องแต่งกายของลูกชายในพิธีกงเต๊กนั้น ลูกชายจะสวมชุดผ้าดิบไว้ข้างในแล้วคลุมทับด้วยชุดกระสอบ อันประกอบไปด้วยเสื้อ, หมวกทรงสูง หากลูกชายคนใดที่แต่งงานแล้วจะมีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาวติดไว้ที่หมวก ส่วนคนใดที่ยังไม่ได้แต่งงานจะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กสีแดง, เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็ก ๆ ห้อยไว้ และไม้ไผ่เสียบไว้ที่เอว ซึ่งไม้ไผ่เปรียบเสมือนคบเพลิงที่ใช้สำหรับส่องทางและป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ ณ ฮวงซุ้ยค่ะ
Credit by: http://www.sirinanmongkol.com/2019/10/01/ชุดผ้าดิบธรรมเนียมการแ/
2. ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้
เครื่องแต่งกายของลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้ภายในงานพิธีกงเต๊กจะมีความคล้ายคลึงกันก็คือด้านในสวมชุดผ้าดิบแล้วคลุมด้วยชุดกระสอบค่ะ ซึ่งชุดกระสอบสำหรับลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้ประกอบไปด้วยเสื้อ, กระโปรง, หมวกสามเหลี่ยมยาวจนถึงหลังและมีผ้าสีขาวผืนเล็กติดไว้ที่หมวก และเชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าห้อยไว้ค่ะ ในกรณีที่ตั้งครรภ์อยู่จะไม่ใช้เชือกคาดเอวค่ะ แต่จะผูกถุงเล็ก ๆ ไว้ที่ด้านขวาของชุดกระสอบบริเวณเอวแทน
3. ลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน
ในกรณีที่ลูกสาวของผู้ล่วงลับยังไม่ได้แต่งงานจะแต่งกายคล้ายกับลูกสาวที่แต่งงานและลูกสะใภ้ เพียงแต่จะไม่สวมกระโปรงผ้ากระสอบและมีผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กสีแดงติดไว้ที่หมวกค่ะ
Credit by: http://johjaionline.com/opinion/เรื่องเล่าจากอากง-ตอนส่งท้าย/
4. ลูกเขย
ในพิธีกงเต๊กนั้น ลูกเขยของผู้ล่วงลับจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าสีขาว โดยมีผ้าผืนยาวสีขาวสำหรับพันรอบเอวและเหน็บชายผ้าทั้งสองข้างไว้ข้างเอว คล้ายกับชุดในซีรีย์จีนค่ะ ส่วนหมวกที่ใช้นั้นจะเหมือนลูกชาย เพียงแต่เป็นสีขาวค่ะ
Credit by: http://www.sirinanmongkol.com/2019/10/01/ชุดผ้าดิบธรรมเนียมการแ/
5. หลานและเหลน
สำหรับเครื่องแต่งกายของลูกหลานในพิธีกงเต๊กนั้น ทั้งหลานและเหลนจะสวมชุดเสื้อผ้าสีขาวเหมือนกัน แต่แตกต่างกันแค่สีหมวกค่ะ ซึ่งสีหมวกของหลานและเหลนจะมีความแตกต่างกันดังนี้คือ…
– “หลานใน” หรือลูกของลูกชาย จะเป็นหมวกสีขาว ส่วน “หลานนอก” หรือลูกของลูกสาว จะเป็นหมวกสีน้ำเงิน สำหรับหลานคนใดที่ยังไม่ได้แต่งงานจะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงผืนเล็กติดอยู่ แต่หากแต่งงานแล้วจะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีขาวผืนเล็กติดอยู่ค่ะ
– “เหลนใน” หรือหลานของลูกชาย จะเป็นหมวกสีฟ้า แต่หากเป็น “เหลนนอก” หรือหลานของลูกสาว จะเป็นหมวกสีชมพูค่ะ หรือในกรณีที่เป็นลูกของหลานในชาย จะเป็นหมวกสีเขียว ส่วนลูกของหลานนอกชายจะเป็นหมวกสีเหลืองค่ะ
6. ญาติของผู้ตาย
ส่วนญาติคนอื่น ๆ ของผู้ล่วงลับในพิธีกงเต๊กนั้นจะแต่งกายแตกต่างกันค่ะ คือ พี่น้องของผู้ล่วงลับจะแต่งกายด้วยเสื้อสีขาวหรือสีดำที่ผูกเอวด้วยสายผ้าสีขาว ในขณะที่หลานชาย (นอก) ของลูกสาวกับหลานสาวที่เรียกผู้ล่วงลับว่า “น้า” จะแต่งกายเหมือนกันด้วยการสวมเสื้อสีขาวหรือดำ โดยใช้สายผ้าสีขาวผูกเอวและมีสายสีแดงรัดอยู่นั่นเองค่ะ
เห็นไหมคะว่าเครื่องแต่งกายของลูกหลานภายในงานพิธีกงเต๊กมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันตามลำดับเครือญาติ แต่ไม่ว่าเครื่องแต่งกายในพิธีจะแตกต่างกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือการแสดงออกถึงความกตัญญูและความเคารพต่อผู้ล่วงลับนั่นเองค่ะ แล้วคราวหน้าเลอหรีดจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “ลำดับขั้นตอนและการปฏิบัติในการประกอบพิธีกงเต๊ก” กันต่อค่ะ

ในอดีตนั้น ประเภทพวงหรีดที่ใช้แสดงความอาลัยในงานศพมีเพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ พวงหรีดดอกไม้สดและพวงหรีดผ้าเท่านั้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พวงหรีดก็เริ่มมีมากมายหลากหลายประเภท อย่างพวงหรีดพัดลม หรือพวงหรีดต้นไม้ วันนี้เลอหรีดจะมาอธิบายเกี่ยวกับพวงหรีดแต่ละประเภทกันค่ะว่ามีลักษณะอย่างไร และมีข้อดี-ข้อด้อยอะไรบ้าง
1. พวงหรีดดอกไม้สด
พวงหรีดดอกไม้สดถือว่าเป็นประเภทพวงหรีดที่ผู้คนนิยมกันมากที่สุดและยาวนานที่สุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีความสวยงาม โดดเด่นสะดุดตาแก่ผู้ที่พบเห็น ช่วยเพิ่มความสดชื่น และผ่อนคลายบรรยากาศโศกเศร้าเสียใจให้เบาบางลงได้ค่ะ ซึ่งพวงหรีดดอกไม้สดจะมีลักษณะเป็นรูปทรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงกลม วงรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วมีดอกไม้สดนานาพันธุ์มาประดับตกแต่งอย่างสวยงามบนโครงร่างนั้น ๆ ค่ะ โดยดอกไม้ประดับพวงหรีดที่ร้านพวงหรีดนิยมใช้ตกแต่งนั้น ได้แก่ ดอกลิลลี่, ดอกเบญจมาศ, ดอกกุหลาบ, ดอกไฮเดรนเยีย, ดอกคาร์เนชั่น และดอกหน้าวัว เป็นต้น เพราะนอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังแฝงคุณค่าและความหมายดี ๆ อีกด้วยค่ะ ส่วนข้อดีและข้อด้อยของพวงหรีดดอกไม้สดนั้นสามารถแยกย่อยได้ดังนี้คือ…
ข้อดี – สีสันของดอกไม้สดนานาชนิดที่นำมาใช้ประดับตกแต่งนั้นมีความสวยงาม โดดเด่นสะดุดตาแก่ผู้ที่พบเห็น ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีและสดชื่นภายในงานศพ เพื่อไม่ให้มีความโศกเศร้าเสียใจและหดหู่จนเกินไปค่ะ นอกจากนั้นยังมีกลิ่นหอมสดชื่นจากดอกไม้นานาชนิดอีกด้วยค่ะ
ข้อด้อย – เมื่อเสร็จสิ้นพิธีศพ ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ประดับบนพวงหรีดก็เริ่มเหี่ยวเฉาและส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อได้ จึงต้องกำจัดทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ค่ะ
2. พวงหรีดผ้า
พวงหรีดผ้าถือว่าเป็นประเภทพวงหรีดที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกับพวงหรีดดอกไม้สด ซึ่งพวงหรีดผ้าจะมีลักษณะเป็นการนำพวงหรีดผ้าขนหนู ผ้าแพร หรือผ้าห่มมาจัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วห่อพลาสติกพร้อมกับติดป้ายชื่อของผู้มอบ และอาจประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สดหรือดอกไม้ประดิษฐ์ให้มีความสวยงามมากขึ้น โดยการมอบพวงหรีดผ้ามีความหมายที่สื่อถึงผู้ล่วงลับว่า “ขอให้ผู้ล่วงลับนอนหลับให้สบายและไม่ต้องกังวลถึงสิ่งใด” ส่วนข้อดีและข้อด้อยของพวงหรีดผ้านั้นสามารถแยกย่อยได้ดังนี้คือ…
ข้อดี – หลังเสร็จสิ้นพิธีศพ สามารถนำพวงหรีดผ้านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรือจะนำไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยหนาว โรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัดได้เช่นกันค่ะ
ข้อด้อย – พวงหรีดผ้ามีความสวยงามและโดดเด่นน้อยกว่าพวงหรีดดอกไม้สด
3. พวงหรีดพัดลม
ในปัจจุบัน พวงหรีดพัดลมถือได้ว่าเป็นประเภทพวงหรีดที่คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาเลือกใช้ในการแสดงความอาลัยกันมากขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะในต่างจังหวัดกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในกรุงเทพฯ อีกด้วยค่ะ ซึ่งพวงหรีดพัดลมมีลักษณะคือเป็นพัดลมที่มีดอกไม้สดหรือดอกไม้ประดิษฐ์ประดับตกแต่งอย่างสวยงามตามความเหมาะสม โดยมีชื่อของผู้มอบให้ในนามบุคคลหรือหน่วยงาน/องค์กร/บริษัทติดกำกับอยู่ค่ะ ส่วนข้อดีและข้อด้อยของพวงหรีดพัดลมนั้นสามารถแยกย่อยได้ดังนี้คือ…
ข้อดี – เมื่อเสร็จสิ้นพิธีศพ เจ้าภาพสามารถนำพวงหรีดพัดลมไปใช้ประโยชน์ต่อ หรือนำไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัดต่อไป
ข้อด้อย – พวงหรีดมีขนาดที่ใหญ่ ทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่าพวงหรีดประเภทอื่น ๆ
4. พวงหรีดต้นไม้
เนื่องด้วยในปัจจุบัน สภาพอากาศเริ่มมีอุณหภูมิที่ร้อนจัด ทำให้พวงหรีดต้นไม้เป็นประเภทพวงหรีดที่ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมามอบเพื่อแสดงความอาลัยกันมากขึ้น เพราะช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความร่มรื่น ร่มเงา ซึ่งพวงหรีดต้นไม้มีลักษณะเป็นกระถางต้นไม้ที่ปลูกไม้มงคลอย่างเช่น ต้นโมก ต้นไทรเกาหลี ต้นสน ต้นวาสนา และมีริบบิ้นประดับเพื่อความสวยงามค่ะ ส่วนข้อดีและข้อด้อยของพวงหรีดต้นไม้นั้นสามารถแยกย่อยได้ดังนี้คือ…
ข้อดี – สามารถนำไปปลูกต่อที่บ้านได้ หรือจะนำไปบริจาคต่อที่วัด เพื่อความร่มรื่น ร่มเงาได้
ข้อด้อย – ลำบากในการพกพาหรือเคลื่อนย้ายไปงานศพ และดูแลยาก หากไม่มีสถานที่บริจาค
เห็นมั้ยล่ะคะว่าประเภทพวงหรีดนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายแบบให้เลือกมอบเพื่อแสดงความอาลัย แต่ไม่ว่าเราจะเลือกมอบพวงหรีดประเภทใดก็สามารถสื่อถึงความรัก ความเคารพ และความอาลัยต่อการจากไปของผู้ล่วงลับ และเป็นการให้กำลังใจครอบครัวของผู้ล่วงลับได้เช่นกันค่ะ